THAI

ผู้ย้ายถิ่นฐานโดยการสมรส
กรณีพระราชบัญญัติพลเรือนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ที่เป็นกฎหมายบังคับใช้
ผลบังคับใช้ทั่วไปของการสมรสและการเปลี่ยนแปลงฐานะ
- การสร้างความสัมพันธ์
· สามีและภรรยาจะกลายเป็นเครือญาติกันตามสถานภาพของคู่สมรสตั้งแต่ตอนที่สมรส (พระราชบัญญัติพลเรือน มาตรา 777 วรรค 3) คู่สมรสจะมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติของบิดามารดาของคู่สมรสของตน และความสัมพันธ์นั้นอยู่ในระดับที่สี่ (พระราชบัญญัติพลเรือน อนุวรรคแห่งมาตรา 777 วรรค 2)
- นามสกุลของสามีและภรรยา
· สามีและภรรยายังคงใช้นามสกุลเดิมได้หลังจากสมรสแล้ว
- คุณสมบัติการเป็นผู้สืบทอดมรดก
· หากคู่สมรสคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่มีสิทธิ์รับมรดกของผู้เสียชีวิตนั้น (พระราชบัญญัติพลเรือน มาตรา 1003)
- บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส
· หากผู้เยาว์มีอายุครบจนสามารถสมรสได้ (18 ปี) ให้ถือว่าเขาหรือเธอได้บรรลุนิติภาวะ และมีสิทธิเท่าเทียมกับบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
ผลบังคับใช้ของการสมรสในด้านทรัพย์สิน
- ข้อตกลงก่อนสมรส
· ข้อตกลงก่อนสมรสคือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนการสมรสโดยบุคคลที่จะสมรส โดยปกติแล้วจะระบุเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านทรัพย์สินของคู่สมรสหลังสมรสแล้ว เมื่อข้อตกลงก่อนสมรสได้ข้อสรุปแล้ว สามีและภรรยาจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ตามหลักการแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างยังสมรสอยู่
· หากมีเหตุผลอันสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากศาล (พระราชบัญญัติพลเรือน มาตรา 829 (2))
· ข้อตกลงก่อนสมรสจะต้องขึ้นทะเบียนก่อนที่จะสมรสเพื่อให้ข้อตกลงดังกล่าวสามารถบังคับใช้กับผู้สืบทอดของสามี หรือภรรยา หรือบุคคลที่สาม ((พระราชบัญญัติพลเรือน มาตรา 829 (4))
- ระบบทรัพย์สินทางกฎหมาย : ระบบทรัพย์สินที่แยกต่างหาก
· หากไม่มีข้อตกลงก่อนสมรส ความสัมพันธ์ด้านทรัพย์สินของสามีและภรรยาจะถูกจัดการภายใต้พระราชบัญญัติพลเรือน มาตรา 830 ถึง 833 พระราชบัญญัติพลเรือน ใช้ระบบทรัพย์สินที่แยกต่างหาก ซึ่งสามีและภรรยาแยกกันเป็นเจ้าของและบริหารจัดการทรัพย์สินของตนเอง
· ดังนั้น เว้นแต่ว่าได้มีข้อตกลงก่อนสมรสแล้ว ① ทรัพย์สินโดยนัยซึ่งเป็นของสามีหรือภรรยาตั้งแต่เวลาก่อนสมรสและทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการสมรสโดยใช้ชื่อของตนเองจะถือเป็นทรัพย์สินเฉพาะของตน ② ทรัพย์สินใด ๆ ที่มีชื่อผู้ครอบครองไม่ชัดเจนระหว่างสามีและภรรยาจะถูกสันนิษฐานว่าเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของเขาหรือเธอ (พระราชบัญญัติพลเรือน มาตรา 830) และ ③สามีหรือภรรยาต้องจัดการใช้และรับผลกำไรจากทรัพย์สินเฉพาะของตน (พระราชบัญญัติพลเรือน มาตรา 831)
- ความรับผิดชอบร่วมกันสำหรับภาระหน้าที่เกี่ยวกับกิจการในครัวเรือน
· ตามกิจการในครัวเรือนโดยปกติแล้ว หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีส่วนร่วมในการทำนิติกรรมกับบุคคลที่สาม คู่สมรสอีกฝ่ายจะต้องรับผิดร่วมกัน และมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อภาระผูกพันดังกล่าว
· เพื่อให้คู่สมรสอีกฝ่ายไม่ต้องรับผิดชอบต่อภาระผูกพัน มีเงื่อนไขว่าจะไม่ใช้บังคับเมื่อได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าแก่บุคคลที่สามแล้ว (พระราชบัญญัติพลเรือน มาตรา 832)
- การแบ่งปันค่าครองชีพ
· ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตร่วมกันของสามีและภรรยา จะต้องดูแลและรับผิดชอบร่วมกัน เว้นเสียแต่ว่าได้มีการกำหนดข้อตกลงพิเศษระหว่างกันไว้ (พระราชบัญญัติพลเรือน มาตรา 833)